การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ และการคลอด


รูปที่ 8.5 การปฏิสนธิ
การปฏิสนธิเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดในกระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ การปฏิสนธิในคนมิได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการร่วมเพศ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตกไข่เกิดขึ้นพอดีในเพศหญิง
การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นเมื่อเมื่อหญิงย่างเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มมีประจำเดือน โดยมีไข่สุกและออกจากรังไข่แล้วไข่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ท่อนำไข่ ในขณะนี้ถ้ามีการร่วมเพศจำนวนอสุจิของชายจำนวนหลายล้านตัวจะแหวกว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกจนถึงท่อนำไข่ และจะมีอสุจิเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เข้าผสมกับไข่ที่
รูปที่ 8.6 แสดงการเจริญของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว
บริเวณท่อนำไข่ตอนปลายใกล้กับรังไข่ได้ เมื่อตัวอสุจิตัวหนึ่งสามารถเข้าผสมกับไข่ได้แล้วเยื่อหุ้มเซลล์ของไข่จะหนาขึ้น ทำให้ตัวอสุจิตัวอื่น ๆ ไม่สามารถเข้ามาผสมได้อีก และภายในเวลา 10  12 ชั่วโมง นิวเคลียสของตัวอสุจิจะรวมเข้ากับนิวเคลียสของไข่เกิดการปฏิสนธิขึ้น การปฏิสนธิจึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์
ภายหลังการปฏิสนธิประมาณ 30  37 ชั่วโมง ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วซึ่งเรียกว่าไซโกต (Zygote) จะเริ่มแบ่งเซลล์จาก 1 เซลล์ เป็น 2 เซลล์ จาก 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ แล่แบ่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นกลุ่มเซลล์ กลุ่มเซลล์ดังกล่าวนี้จะเคลื่อนที่ไปยังผนังมดลูกซึ่งหนาตัวขึ้นเพื่อเตรียมการรองรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสม และภายในเวลา 6  7 วัน กลุ่มเซลล์ก็จะฝังตัวบริเวณผนังมดลูก กลุ่มเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงถึงระยะนี้เรียกว่า เอ็มบริโอ (Embryo) หรือ ตัวอ่อน อย่างไรก็ตามในบางกรณีซึ่งไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปฝังตัวที่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่มดลูก เช่น บริเวณช่องท้อง บริเวณปีกมดลูก ซึ่งเรียกว่า ท้องนอกมดลูก การท้องนอกมดลูกมีผลทำให้ผู้เป็นแม่มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจมีอันตายถึงชีวิตได้
เมื่อตัวอ่อนมาฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วในระยะนี้จะมีการพัฒนาอวัยวะพิเศษของตัวอ่อน อวัยวะนั้นก็คือ รก (Placenta) ซึ่งมีลักษณะเป็นร่างแหหลอดเลือดหนา รกจะทำหน้าที่ดูดซึมอาหารและออกซิเจนจากผนังมดลูกแม่ส่งมาเลี้ยงตัวอ่อน และเป็นช่องทางขับถ่ายของเสียของตัวอ่อนด้วย
หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วก็จะมีการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ และเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเรื่อย ๆ ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 8.1 แสดงขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในระหว่างการตั้งครรภ์
อายุ (สัปดาห์)
ลักษณะของทารก
การเจริญเติบโต
3
เริ่มมีหัวใจ สมอง และไขสันหลัง
4
เริ่มมีตา ปุ่มแขนขา หัวใจเจริญมากขึ้น
5
อวัยวะต่าง ๆ เจริญมากขึ้น
6
เริ่มมีหู
7
เริ่มมีเพดานในช่องปาก
8
เริ่มปรากฏอวัยวะเพศภายนอก เริ่มมีอวัยวะต่าง ๆ เหมือนคน กระดูกภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงจากกระดูกอ่อนเป็นกระดูกแข็ง เอ็มบริโอระยะนี้เรียกว่า ฟีตัส (Fetus)
12
ฟีตัสเริ่มมีการเคลื่อนไหวส่วนแขน ขา อวัยวะหายใจเริ่มปรากฏแต่ยังไม่ทำหน้าที่ เริ่มเห็นรอยนิ้วมือ นิ้วเท้า กลืนของเหลวในถุงน้ำคร่ำได้ ระบบขับถ่ายเจริญอย่างรวดเร็ว
16
ฟีตัสมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น มีการเจริญของกระดูกแข็ง
20  36
ฟีตัสมีการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้น ระบบประสาทมีการเจริญมาก มีไขเคลือบทั่วตัว และอวัยวะต่าง ๆ เจริญเติบโตเกือบเต็มที่
38
ฟีตัสเจริญเติบโตเต็มที่
ขณะที่ทารกเจริญอยู่ในครรภ์ ทารกจะอาศัยอยู่ในถุงน้ำครำซึ่งช่วยป้องกันทารกจากอันตรายต่างๆ ได้ดี และทารกจะได้รับอาหารและอากาศโดยผ่านทางรก ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับมดลูกของแม่มีหลอดเลือดจากแม่มาเลี้ยงบริเวณรกนี้มากมาย หลอดเลือดจากรกจะเชื่อมต่อกับตัวทารกทางสายสะดือ ดังนั้นรกจึงเป็นทางผ่านเข้าออกของอาหาร อากาศ ของเสียจากทารกอยู่ตลอดเวลา
รูปที่ 8.6 ทารกในครรภ์
นอกจากอาหารและอากาศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและรอดชีวิตของทารกในครรภ์แล้ว อารมณ์ของผู้เป็นแม่ขณะตั้งครรภ์ก็มีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วย ดังนั้นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์นอกจากจะต้องบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงโดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ งดเว้นสิ่งเสพย์ติดทั้งหลายแล้วยังต้องทำจิตใจให้แจ่มใสอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อทารกที่อยู่ในครรภ์จะได้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะเดียวกันผู้ที่กำลังจะเป็นพ่อก็ควรให้ความเอาใจใส่และทะนุถนอมน้ำใจของผู้ที่จะเป็นแม่ด้วย
 เมื่อทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์จนกระทั่งมีอายุประมาณ 38 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน หรือ 280 วัน นับจกวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งถือเป็นช่วงครบกำหนดคลอด รกจะเริ่มเสื่อมสลายตัว ทารกเตรียมพร้อมที่จะคลอด และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวแม่โดยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อผนังมดลูกบีบตัว ประกอบกับการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้องทำให้ปากมดลูกเปิด ถุงน้ำคร่ำแตก มดลูกบีบตัวอย่างแรงดันให้ทารกออกมาทางช่องคลอด โดยปรกติส่วนของศีรษะของทารกจะโผล่ป่านปากช่องคลอดออกมาก่อน หลังจากทารกคลอดออกมาแพทย์ผู้ทำการคลอดจะต้องผูกสายสะดือให้แน่นทั้งด้านตัวแม่และด้านตัวลูกก่อนที่จะตัดสายสะดือ เพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดจากตัวแม่และตัวลูก หลังจากทารกคลอดออกมาประมาณ 10  15 นาที มดลูกจะบีบตัวให้รกหลุดออกมา
 ภายหลังจากการคลอดต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม และต่อมาจากนั้น 2  3 วัน มารดาจะมีน้ำนมซึ่งมีลักษณะขุ่นเล็กน้อยสีค่อนข้างเหลือง เรียกว่า น้ำนมน้ำเหลือง ซึ่งมีส่วนผสมต่างจากน้ำนมธรรมดาตรงที่มีไขมันน้อยกว่าหรือไม่มีไขมันเลย น้ำนมน้ำเหลืองนี้เป็นน้ำนมชุดแรกที่มารดาผลิตขึ้น มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูงมากเหมาะสำหรับทารก หลังจากนั้นประมาณวันที่ 3  4 หลังคลอด จึงมีการผลิตน้ำนมธรรมดา
เมื่อเราเปรียบเทียบน้ำนมวัวซึ่งเป็นน้ำนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถใช้เลี้ยงทารกแทนน้ำนมแม่ได้ กับน้ำนมแม่จะพบส่วนประกอบที่แตดต่างกันดังแสดงในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 8.2 เปรียบเทียบส่วนประกอบของน้ำนมแม่กับน้ำนมวัว
ส่วนประกอบที่สำคัญ
ความเข้มข้นเฉลี่ย (กรัม/100 ซม3)
น้ำนมแม่
น้ำนมวัว
น้ำ
88.7
87.5
น้ำตาล
7.0
4.8
ไขมัน
3.8
3.7
โปรตีน
1.2
3.3
แร่ธาตุ
0.2
0.7
 จากตารางถึงแม้ว่าน้ำนมวัวจะมีส่วนประกอบหลายอย่างที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าน้ำนมแม่ก็ตาม แต่แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้เป็นแม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่มากกว่าน้ำนมวัว ทั้งนี้เพราะน้ำนมแม่มีข้อดีหลายประการ คือ
1. น้ำนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของทารก และยังเหมาะต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ด้วย ปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำนมแม่ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าน้ำนมวัวแต่ก็เป็นโปรตีนที่สามารถย่อยและดูดซึมเข้าไปใช้ได้หมด ถ้าทารกระยะ 2  3 เดือนแรกได้รับโปรตีนมากเกินไป ตับจะเปลี่ยนโปรตีนที่มีเกินพอให้เป็นยูเรียไนโตรเจน ทำให้ระดับยูเรียไนโตรเจนในเลือดสูงขึ้นและจะขับออกทางไตทำให้ไตต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดภาวะไตโตได้ ฉะนั้นปริมาณโปรตีนที่มีมากเกินไปในน้ำนมวัว อาจทำให้ทารกที่กินน้ำนมวัวมีอาการดังกล่าวได้
2. น้ำนมแม่ไม่มีโปรตีนชนิดที่เรียกว่าเบต้าแลคโตโกลบูลิน (b - Lacto globulin) ซึ่งโปรตีนชนิดนี้พบมากในน้ำนมวัว และเชื่อว่าเป็นต้นต่อสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในทารกและเด็กที่ดื่มน้ำนมวัว
3. น้ำนมแม่มีกรดไขมันที่จำเป็น ได้แก่ กรดไลโนเลอิก ซึ่งมีปริมาณมากในน้ำนมแม่คือ 8  10 % ของไขมันทั้งหมด ในขณะที่น้ำนมวัวมีประมาณ 2 % เท่านั้น
4. น้ำนมแม่มีเอนไซม์ไลเพสอยู่ด้วย เอนไซม์นี้เมื่อได้รับการกระตุ้นจากเกลือน้ำดีจะช่วยให้การย่อยและการดูดซึมไขมันในน้ำนมดีกว่านมผสม
5. ในน้ำนมแม่มีแล็กโทสสูงกว่าน้ำนมวัว ประโยชน์ของการมีแล็กโทสสูงก็คือ ทำให้ทารกที่ดื่มน้ำนมแม่มีอุจจาระเป็นกรด ทำให้การถ่ายอุจจาระเป็นปรกติมีสีเหลืองทองและมีกลิ่นเป็นกรด ต่างจากการดื่มน้ำนมวัวซึ่งทำให้อุจจาระแข็ง สีซีดและมีกลิ่นเหม็น
6. การดื่มน้ำนมแม่ประหยัด สะดวก สะอาดและปลอดภัย เพราะไม่ต้องซื้อ และตัดปัญหาเรื่องความสะอาดของขวดนม จุกนม และอุปกรณ์ในการเตรียมนมผสม เพียงแต่เช็ดหัวนมให้สะอาดด้วยผ้าหรือสำลีชุบน้ำเป็นอันใช้ได้ เพราะการเตรียมหรือการผสมน้ำนมมักจะทำไม่ถูกต้องหรือไม่สะอาด จึงเป็นเหตุให้ทารกเกิดโรคท้องเสียและโรคขาดสารอาหารตามมา ซึ่งโรคท้องเสียในทารกต่ำกว่า 1 ปี เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ทารกวัยนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือทำให้ทารกต้องตายไป
7. น้ำนมแม่มีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อทารกที่ได้รับการเลี้ยงด้วยน้ำนมแม่จะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีการเจ็บป่วยเป็นโรคติดเชื้อน้อยโดยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาในทารกคือ โรคท้องเสีย โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหูน้ำหนวก ทั้งนี้เพราะน้ำนมแม่สะอาด น้ำนมแม่มีเม็ดเลือดขาวซึ่งคอยทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย น้ำนมน้ำเหลืองจะมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า นอกจากนี้น้ำนมแม่มีสารที่ทำให้เกิดภูมิต้านทาน และมีสารที่สามารถฆ่าเชื้อโรคอย่างอ่อน ๆ(Lysoxyme) ซึ่งช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
8. น้ำนมแม่มีผลต่อสภาวะจิตใจ จะมีผลดีทั้งแม่และลูก การให้ลูกดูดนมทำให้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สบายใจและภาคภูมิใจทั้งแม่และลูก
9. การให้ลูกดูดนมแม่เป็นผลดีต่อตัวแม่เอง แม่ที่ให้นมลูกเต็มที่จะมีภาวะขาดประจำเดือนประมาณ 8  12 เดือน หลังคลอด ซึ่งเปรียบเทียบกับแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองจะมีภาวะขาดประจำเดือน 2  4 เดือน ซึ่งประโยชน์ในด้านนี้คือช่วยในการวางแผนครอบครัวโดยแม่ที่ให้น้ำนมลูกเมที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะประมาณ 7 เดือนหลังคลอด ซึ่งช่วยไม่ให้ตั้งครรภ์ถี่เกินไป อย่างไรก็ตามแม่ที่ต้องการให้มีลูกป่างหรือไม่มีลูกอีกต่อไปควรจะหาวิธีคุมกำเนิดโดยวิธีอื่น ๆ ซึ่งได้ผลแน่นอนกว่า นอกจากนี้การที่ทารกดูดนมแม่จะช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งจะช่วยให้มดลูกหดตัวเข้าช่องเชิงกรานได้ดีอีกด้วย ดังนั้นผู้เป็นแม่จึงควรกระตุ้นการหลั่งน้ำนมให้ลูกดูด และควรเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตนเองอย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือประมาณ 6 เดือนหลังคลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น