ความผิดปรกติของการตั้งครรภ์


ชีวิตของคนเราจะเริ่มก่อตัวอยู่ภายในโพรงมดลูกของแม่ และจะเจริญขึ้นทีละน้อย ๆ โดยอาศัยอาหารที่มาจากเลือดของแม่ทางสายสะดือ ทารกจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในท้องของแม่จนครบ 9 เดือน จึงจะเจริญเต็มที่ และคลอดออกมาเป็นทารกตัวเล็ก ๆ ที่สมบูรณ์แข็งแรงและน่ารัก แต่ถ้าสภาพของการตั้งครรภ์ผิดไปจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น การตั้งครรภ์ยังไม่ทันถึง 7 เดือน ก็มีเหตุบังเอิญหรือเหตุจำเป็นต้องคลอดออกมาเสียก่อน หรือแม่มีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวอยู่นานเป็นผลให้ทารกในท้องเจริญเติบโตไม่ได้ หรืออาจเป็นเพราะลูกในท้องที่ก่อตัวอ่อน ๆ อยู่นั้นมีความพิการเป็นต้น ก็ถือว่าเป็นความผิดปรกติของการตั้งครรภ์และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ได้ ความผิดปรกติของการตั้งครรภ์ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่

ท้องนอกมดลูก

ท้องนอกมดลูก คือการที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปฝังตัวอยู่ที่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่มดลูก เช่น บริเวณช่องท้อง บริเวณปีกมดลูก ซึ่งเป็นผลให้ผู้ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
การท้องนอกมดลูกมักจะดำเนินไปไม่ตลอดถึงครบกำหนดคลอด วนมากจะพบว่ามีการแท้งหลุดออกมา หรือการแตกของท่อนำไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในช่องท้อง ดังนั้นหากมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันทีเพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ฝาแฝด

ตามปรกติในรอบเดือนหนึ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะมีกลไกภายในที่ควบคุมให้มีการเจริญและตกไข่รอบละ 1 ใบ จึงทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์และคลอดทารกได้ครั้งละ 1 คนเท่านั้น แต่ในบางกรณีก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์และคลอดทารกได้มากกว่า 1 คนในคราวเดียวกัน ซึ่งจดเป็นความผิดปรกติของการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ทารกที่คลอดในลักษณะนี้เรียกว่า ฝาแฝด (Twins) ฝาแฝดแบ่งตามสาเหตุของการเกิดมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. ฝาแฝดร่วมไข่ หรือ ฝาแฝดแท้ (Identical Twins) เป็นฝาแฝดที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกันหมด แต่รูปร่างลักษณะนี้อาจจะกลับข้างกันจากซ้ายเป็นขวาและจากขวาเป็นซ้ายได้ เป็นเพศเดียวกันเสมอ มีเลือดหมู่เดียวกัน มีนิสัยใจคอและความสามารถคล้ายกันมากเมื่อได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
ฝาแฝดร่วมไข่เป็นฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันผสมกับอสุจิเพียงตัวเดียว ขณะที่กำลังเจริญเติบโตเป็นเอ็มบริโอในระยะแรก ๆ มีการแบ่งตัวออกเป็น 2 ส่วน และแยกออกจากกัน แต่ละส่วนมีการเจริญเติบโตต่อไปภายในมดลูกจนเป็นทารก และคลอดออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ในบางครั้งเอ็มบริโอมีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนแต่ไม่แยกจากกันโดยเด็ดขาด เมื่อเจริญเติบโตและคลอดออกมาก็จะได้ทารกที่มีอวัยวะบางส่วนติดกัน ฝาแฝดในลักษณะนี้ต่อมาเรียกว่า แฝดสยาม (Siamese Twins) ฝาแฝดร่วมไข่ในลักษณะนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาผ่าตัดแยกออกเป็น 2 คน เฉพาะรายที่เห็นสมควรเท่านั้น ตัวอย่างฝาแฝดร่วมไข่ที่มีอวัยวะบางส่วนติดกัน เช่น

 
รูปที่ 8.7 แสดงการเกิดฝาแฝดแบบฝาแฝดร่วมไข่
แฝดอิน  จัน มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เอ็ง  ชาง เป็นแฝดสยามคู่แรก เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2354 แฝดอิน  จัน มีส่วนหน้าอกติดกัน และมีอวัยวะภายใน คือ ตับ เป็นเนื้อเดียวกัน แฝดอิน  จัน เกิดและมีชีวิตในช่วงเวลาที่วิชาศัลยแพทย์ไม่เจริญ จึงไม่มีแพทย์ผู้ใดกล้าทำการผ่าตัดแยกออกจากกันได้ ถึงแม้แฝดอิน  จัน จะมีชีวิตผ่านการอบรมมาแบบเดียวกันแต่อุปนิสัยไม่เหมือนกัน คือคนหนึ่งชอบกินเหล้า เมื่อเมาแล้วจะอาละวาด ส่วนอีกคนหนึ่งไม่กินเหล้า มีนิสัยโอบอ้อมอารี แฝดอิน  จัน ใช่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศมีครอบครัวและลูกหลานสืบสกุลมาจนถึงปัจจุบันมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดนใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) แฝดอิน จันถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2417 รวมอายุได้ 63 ปี
แฝดทิวา  ราตรี (น้องปู  น้องเป้) เป็นแฝดร่วมไข่อีกคู่หนึ่งซึ่งเอ็มบริโอแบ่งเป็น 2 ส่วน แต่ไม่แยกจากกันโดยเด็ดขาด และแพทย์สามารถผ่าตัดแยกออกเป็น 2 คนได้สำเร็จเมื่อวันที่16 มิถุนายน 2525 โดยคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
2. ฝาแฝดต่างไข่ หรือ ฝาแฝดเทียม (Fraternal Twins) เป็นฝาแฝดที่มีรูปร่างลักษณะอาจไม่เหมือนกันเลย เป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศ และอาจมีเลือดหมู่เดียวกันหรือคนละหมู่ก็ได้ ฝาแฝดต่างไข่นี้จึงมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะทางพันธุกรรมเทียบได้กับพี่น้องท้องเดียวกันเท่านั้น นอกจาการนี้ฝาแฝดต่างไข่ยังอาจมีอุปนิสัยใจคอและความสามารถแตกต่างกันอีกด้วย

 
รูปที่ 8.8 แสดงการเกิดฝาแฝดแบบฝาแฝดต่างไข่
ฝาแฝดต่างไข่ เป็นฝาแฝดที่เกิดเนื่องจากมีไข่สุกพร้อมกันมากกว่า 1 ใบ จากรังไข่ข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และไข่แต่ละใบจะผสมกับตัวอสุจิแต่ละตัว เกิดการปฏิสนธิขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันได้เอ็มบริโอเจริญอยู่ภายในมดลูกด้วยกัน แต่แยกรกกันและทารกจะคลอดออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน ฝาแฝดต่างไข่อาจคลอดออกมาครั้งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปขึ้นอยู่กับจำนวนไข่ที่สุกพร้อมกันว่ามีกี่ใบ

การแท้งและการคลอดก่อนกำหนด

ความผิดปรกติของการตั้งครรภ์นอกจากจะทำให้เกิดฝาแฝดในลักษณะต่าง ๆ แล้วยังทำให้เกิดผลอื่น ๆ เช่น การแท้ง การลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
การแท้ง หมายถึง การที่ทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ หรือทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัม
การแท้งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ พบประมาณร้อยละ 10  15 ของการตั้งครรภ์ อาการส่วนใหญ่เมื่อเริ่มจะแท้ง คือมีเลือดออกทางช่องคลอด ในระยะแรกจะออกไม่มาก ต่อมาจะมีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ คล้ายปวดประจำเดือนแต่ปวดมากกว่า อันตรายสำคัญของปากแท้ง คือการตกเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยปรกติเอ็มบริโอจะมีอวัยวะครบในช่วงอายุประมาณ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน ดังนั้นการทำแท้งในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์นี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่ออันตรายมาก เพราะอาจทำให้ผู้เป็นแม่เสียชีวิตได้ ถ้าทำไม่ถูกต้องตามวิธีของแพทย์ และอาจพบอาการแทรกซ้อนได้มากเนื่องจากมีการติดเชื้อ เช่น เลือดเป็นพิษ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มดลูกทะลุ บาดทะยัก เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้แม่เสียชีวิตได้เช่นกัน และในบางรายอาจทำให้ท่อนำไข่ตันทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นหมันได้
การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง การที่ทารกคลอดในช่วงอายุ 28  37 สัปดาห์
การแท้งและการคลอดก่อนกำหนดเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น แม่ได้รับอุบัติเหตุ ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดความผิดปรกติในตัวแม่เอง เป็นต้น

ความพิการแต่กำเนิด

ความพิการแต่กำเนิด นับเป็นความผิดปรกติอีกอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ ในขณะที่ทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์มารดานั้นมีกระบวนการที่สลับซับซ้อนเกิดขึ้นมากมายจากเซลล์เซลล์เดียวเมื่อเริ่มปฏิสนธิ จนถึงมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเป็นล้านล้านเซลล์เมื่อคลอดออกมา เซลล์เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและหน้าที่มาประกอบกันเข้าเป็นอวัยวะต่าง ๆ ให้ได้สัดส่วนเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ถ้ากระบวนการต่าง ๆ ในแต่ละขั้นตอนของการเจริญเติบโตผิดปรกติมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก็จะมีผลทำให้ทารกคลอดออกมามีความผิดพิการได้ ซึ่งสาเหตุของความพิการแต่กำเนิดมีอยู่หลายประการ ได้แก่
1. การติดเชื้อ เมื่อหญิงมีครรภ์ได้รับเชื้อโรคบางอย่าง เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส โกโนเรีย เข้าสู่ร่างกาย เชื้อโรคดังกล่าวก็จะแพร่กระจายตามกระแสเลือดเข้าสู่ตัวอ่อน มีผลต่อทารกในครรภ์ทำให้ทารกที่คลอดออกมาพิการได้ ตัวอย่างเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด เช่น
1.1 เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน หญิงที่เป็นโรคหัดเยอรมัน เมื่อมีครรภ์ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าวก็จะแพร่ไปตามกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและเข้าสู่ตัวอ่อนไปทำลายกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นอวัยวะบางอย่างของตัวอ่อน เช่น ตา หู หัวใจ จึงอาจมีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาตาบอด หูหนวก และหัวใจพิการได้ โดยเฉพาะถ้าแม่เป็นโรคหัดเยอรมันในช่วงตั้งครรภ์ได้ 2  3 เดือน
อย่างไรก็ตามหัดเยอรมันเป็นโรคที่ถ้าผู้ใดเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก เพราะร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ดังนั้นหญิงที่เป็นโรคนี้แล้วตั้งแต่ก่อนแต่งงาน เมื่อมีครรภ์ทารกในครรภ์จึงปลอดภัยจากโรคนี้ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แก่หญิงสาวที่ยังไม่มีบุตร เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ในระหว่างตั้งครรภ์
1.2 เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส แม่ที่เป็นโรคซิฟิลิสขณะตั้งครรภ์และไม่ได้รับการรักษาจะทำให้แท้งหรือเด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเกิดมาเป็นซิฟิลิสเนื่องจากได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าไป โดยเด็กจะมีอาการบวม ซีดเหลือง ผิวหนังลอกน่าเกลียด รวมทั้งอาการพิการ เช่น หูหนวกได้
1.3 เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคโกโนเรีย แม่ที่เป็นโรคโกโนเรียขณะที่คลอดเชื้อโรคอาจเข้าตาเด็กทำให้ตาบอดได้ ในกรณีที่สงสัยเมื่อเด็กคลอดออกมาจึงมีการหยอดตาเด็กด้วยยาฆ่าเชื้อโรค ส่วนหญิงที่เป็นโรคนี้เรื้อรังอาจมีอาการอักเสบของปีกมดลูก ทำให้ไข่เดินมาสู่โพรงมดลูกไม่สะดวก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดมีการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
1.4 เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคเอดส์ สามารถถ่ายทอดเชื้อเอดส์ไปยังลูกได้ทางกระแสเลือด โดยทารกอาจได้รับเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคเอดส์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือติดเชื้อขณะคลอด ซึ่งทำให้ทารกมีอาการสมองติดเชื้อ และปอดบวม แต่ส่วนใหญ่ทารกจะไม่ปรากฏอาการ จะปรากฏอาการเมื่อทารกอายุประมาณ 6  8 เดือน โดยมีน้ำหนักตัวลด ไม่เติบโตตามปรกติ ท้องร่วงเรื้อรัง ตับและม้ามโต เป็นต้น
2. ยา หรือ สารเคมีบางตัว การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นขณะมีครรภ์ผู้เป็นมารดจึงไม่ควรซื้อยามากินโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ และหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือกินสารใด ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ยาเสพย์ติดทั้งหลาย เพราะสารที่ได้รับเข้าไปในร่างกายอาจมีผลทำให้ทารกเกิดมามีอาการผิดปรกติได้ เช่น กรณีหญิงมีครรภ์ได้รับยาแก้อาเจียน แพ้ท้อง พวกธาลิโดไมด์ จะมีผลทำให้ทารกคลอดออดมาพิการ แขนขากุด มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หญิงมีครรภ์ที่กินยากันชักพวกไฮแดนโทอิน มีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาหน้าแปลก ตัวเล็ก สติปัญญาอ่อน หญิงมีครรภ์ที่ดื่มเหล้าจะมีผลทำให้จำนวนทารกตายเมื่อแรกคลอดสูงกว่าปรกติ บางรายมีสติปัญญาอ่อนและบางรายมีรูปกายผิดปรกติที่เรียกว่า กลุ่มอาการทารกได้แอลกอฮอล์ หญิงมีครรภ์ที่ได้รับสารดีบุกจำนวนมากจะมีอัตราการแท้งสูง หญิงมีครรภ์ที่ได้รับสารปรอทมีผลทำให้ทารกมีอาการพิการทางสมอง มีศีรษะลีบเล็ก ไม่เจริญเติบโต เป็นต้น นอกจากนี้การที่ได้รับรังสีเอ็กซ์ (X - ray) มากเกินไป จะก่อให้เกิดการเจริญที่ผิดปรกติของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งผลของยาและสารเคมีที่มีต่อเด็กขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และระยะเวลาที่มารดาได้รับด้วย
3. ความผิดปรกติของหน่วยพันธุกรรม เป็นความผิดปรกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ลักษณะผิวเผือก โรคปัญญาอ่อนบางชนิด โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น

2 ความคิดเห็น:

  1. ตอนนี้ดิฉันตั้งครรภ์ ได้ 9 วีคค่ะ ไปซาวหมอบอกเป็นแฝด แต่เป็นแฝดตัวติดกันค่ะ งงทำไมถึงเป็นแบบนี้หมอนัด อีกที 17/5/58 นี้ว่าจะต้องยุติการตั้งครรภ์หรือไหม ขอคำปรึกษาคะ

    ตอบลบ
  2. ท้องแฝดได้4เดือนแล้วคะแต่ลูกยังไม่ดิ้นเลยแล้วท้องก็เป็นก้อนบ่อยคะมักจะเป็นก้อนอยู่ข้างเดียวเป็นอะไรไหมคะ

    ตอบลบ